โฆษก กมธ.รธน. ปัดสืบทอดอำนาจ ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ



“คำนูณ” แจงตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ปัดสืบทอดอำนาจ กมธ.ยกร่าง รธน.และ สปช. ชี้คนใหม่สานงานต่อไม่ดีเท่าคนริเริ่ม ย้ำไม่ครอบงำ รบ.เหตุต้องทำประชามติ พร้อมรับฟังทุกภาคส่วน ยังมีเวลาแก้ไข ปรับปรุงอีก 60 วันหลังยื่นร่างแรกต่อ สปช. ฟุ้งระบบ ลต.ใหม่ ทุกกลุ่มเห็นพ้อง เว้นพรรคใหญ่...


เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีหลายฝ่ายโจมตี การบัญญัติให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 120 คน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติ 15 คน ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ของ กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. ทั้งที่ต้องทำหน้าที่ต่ออีก 7 เดือนหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว ว่า เราไม่ได้สืบทอดอำนาจหรือต่ออายุตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.ต้องทำหน้าที่ยกร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญอย่างน้อย 12 ฉบับ ดังนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. จะต้องอยู่ต่อหลังจากที่รัฐธรรมนูญใช้ไปแล้ว 210 วันหรือ 7 เดือน คือก่อนที่จะมีการเลือกตั้งส.ส. ขณะที่ สนช.ต้องอยู่ต่อจนถึงวันที่มี ส.ว. คือราว 240 วันหรือ 8 เดือน

ส่วนการที่กรรมาธิการยกร่างฯ ออกแบบให้มีสภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น เพราะเห็นว่า สปช.เป็นผู้ริเริ่มงานด้านการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีผลงานมาจากกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ และได้นำบางส่วนลงในรายมาตราในรัฐธรรมนูญภาคที่ 4 มีอยู่ประมาณ 10 กว่ามาตราเท่านั้น จึงให้สานต่อ ส่วนการวิจารณ์ว่าควรให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่นั้นก็ดี แต่ต้องยอมรับว่าจะให้คนใหม่เข้ามาทำโดยสานงานต่อจากที่คนอื่นทำไว้อาจจะไม่เข้าใจดีพอ จึงเปิดช่องให้ทั้ง สปช. และ สนช. และผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูป ร่วมเป็นสมาชิกของสภาดังกล่าว

พร้อมยืนยัน เป็นการออกแบบที่บริสุทธิ์ใจ โดยให้แยกออกจากการบริหารของฝ่ายบริหาร แต่ทิศทางในการปฏิรูปให้เป็นช่องทางพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบางครั้งก็ต้องคำนึงถึงฐาน เสียงของพรรคการเมือง จึงยากที่จะดำเนินการตามทิศทางของการปฏิรูปให้สำเร็จ และยืนยันว่าสภาขับเคลื่อนฯ กับกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่สามารถครอบงำการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะต้องใช้เสียง 3 ใน 4 อีกทั้งต้องทำประชามติรับฟังความเห็นของคนทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคณะทำงานติดตามการปฏิรูปของ คสช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ระบุว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาต่อสังคมอย่างน้อย 6 ข้อ นายคำนูณ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ เคารพและรับฟังความเห็นของทุกส่วนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีเหตุผลสามารถชี้แจงได้ในทุกข้อท้วงติง แต่จะระบุว่าใครถูกหมดหรือผิดหมดคงไม่ได้ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นแค่ร่างแรกที่ยังสามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะเสนอ ต่อที่ประชุม สปช.นัดแรกก่อนวันที่ 17 เม.ย.58 ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ จะเริ่มทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในต้นสัปดาห์หน้า

“เรายืนยันว่ารับฟังจากทุกกลุ่มตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุไว้ว่าเรารับฟัง แต่ไม่ใช่ต้องเชื่อฟัง นอกจากนี้ยังช่วงเวลาทอง คือระหว่าง 25 พ.ค.ถึง 23 ก.ค. เป็นเวลา 60 วันที่จำพิจารณาทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงในรายมาตรา หากข้อเสนอนั้นมีความหนักแน่นและชี้ถึงปัญหาต่างๆ เราก็จะทบทวนในแต่ละภาค ส่วน หมวด มาตราให้เหมาะสมและสังคมประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด” นายคำนูญ กล่าว

เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองท้วงติงถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่จะใช้ระบบ สัดส่วนผสมจะสร้างความสับสนหรือไม่ นายคำนูณกล่าวยอมรับว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้พรรคใหญ่ไม่ได้ ส.ส.มากเท่าเดิม แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและขนาดกลางมีโอกาสมากขึ้นจึงมีพรรคการเมืองใหญ่ เท่านั้นคัดค้าน ขณะที่พรรคเล็ก ขนาดกลาง รวมถึงกลุ่มการเมืองไม่คัดค้านเลย แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้มากที่สุด.

...........................
ที่มา  :   http://www.thairath.co.th/pol

0 comments:

Post a Comment