เด็ก8ขวบถูกลูกหมากัด ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าดับ



สคร.7 เผยพบเด็ก 8 ขวบ ชาวศรีษะเกษ ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เสียชีวิตเป็นรายแรกแล้ว เตือนประชาชนหากถูกสุนัขกัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา และพบแพทย์โดยด่วน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด รวมถึง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ว่า พบผู้ป่วยต้องสงสัยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จ.ศรีสะเกษแล้ว 1 ราย จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กชาย อายุ 8 ขวบ ในพื้นที่ ต.กันทรารมย์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ถูกลูกสุนัขเพศผู้อายุ 3 เดือน ซึ่งเพื่อนบ้านนำมาเลี้ยงไว้ ข่วน และกัดเป็นรอยจ้ำเลือด ช่วงเช้าวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับวัคซีนหลังถูกกัด เนื่องจากผู้ปกครองลืม กระทั่งวันที่ 27เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดปัสสาวะ และอาเจียนตลอดเวลา เจ็บตามตัวสะดุ้งตื่นตลอดคืน ผู้ปกครองจึงนำส่งรพ.ขุขันธ์ แต่ผู้ป่วยมีอาการแปลก ๆ กัดเสื้อผ้าไม่กลืนน้ำ กลัวแสง กลัวลม แพทย์จึงส่งตัวต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ แต่ไม่ทันการณ์จึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปอีกว่า เบื้องต้น ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่คนในครอบครัวของผู้เสียชีวิต และเฝ้าระวังอาการ รวมทั้งค้นหาผู้สัมผัสกับสุนัขคอกนี้ในชุมชนเพื่อไห้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำการเฝ้าระวังอาการต่อไป ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแลสุนัข และแมวเนื่องจากระยะหลังพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากกว่าสุนัขจรจัด ผู้ปกครองควรดูแลอย่าให้บุตรหลานไปเล่นหรือคลุกคลีกับสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสโดยตรงกับสุนัขจรจัด เพราะอาจถูกกัดหรือข่วนได้ หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่ ใส่ยาใส่แผลสดและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที รวมทั้งเฝ้าระวังสุนัขหรือแมวที่มากัดเป็นเวลา 10 วันหากสัตว์ตายระหว่างดูอาการให้แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตัดหัวสุนัขส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตามควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน เมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปีหากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.


ที่มา  :   http://www.dailynews.co.th/

0 comments:

Post a Comment